การเลี้ยงไส้เดือนดิน เพื่อจำหน่ายเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน
00:19การเลี้ยงไส้เดือนดิน เพื่อจำหน่ายเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน
++ พันธุ์ไส้เดือน ++
1.ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกัน ไนท์ คลอเรอร์ ลักษณะเป็นไส้เดือนตัวใหญ่ ลำตัวออกสีน้ำเงิน
2. ไส้เดือนพันธุ์อาร์เชน่า ลักษณะเป็นไส้เดือนตัวเล็ก สีแดง
++ การเลี้ยงไส้เดือนในบ่อซีเมนต์ ++มีขั้นตอนในการเลี้ยงดังนี้
การเตรียมโรงเรือนผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน : โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไส้เดือนดิน ต้องมีหลังคากันฝนและพรางแสง เนื่องจากไส้เดือนดินไม่ชอบแสงสว่าง ในบริเวณบ่อเลี้ยงต้องมีตาข่ายปิดด้านบน หรือใช้ตาข่ายกั้นบริเวณด้านข้างรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันศัตรูของไส้เดือนบ่อเลี้ยงไส้เดือน กว้างประมาณ 1 เมตรความยาวแล้วแต่ต้องการ และมีความลึกไม่เกิน 0.5 เมตรจะใช้เป็นบ่อเลี้ยงที่ใช้ผลิตปุ๋ยหมัก มูลไส้เดือนดินจากวัสดุอินทรีย์ได้ดีและสะดวกในการจัดการ
บ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน ควรก่อสร้างบริเวณด้านข้างโรงเรือนหรือด้านหลังโรงเรือนให้น้ำหมักจากบ่อเลี้ยงไส้เดือนไหล เข้าไปเก็บไว้ในบ่อเก็บน้ำหมักได้ง่าย ขนาดของบ่อเก็บน้ำหมักจะมีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยงไส้เดือนตามความเหมาะสมของปริมาณ น้ำหมักที่ได้
การเตรียมวัสดุรองพื้นเพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือนดิน :
ที่อยู่ของไส้เดือนนั้น จะใช้ฟางแห้ง จำนวน 1 กระสอบ + ขี้เลื่อย จำนวน 2 ปี๊บ คนให้เข้ากันกัน ใช้น้ำรดไปเรื่อยๆจนกระทั่งส่วนผสมติดกันปั้นเป็นก้อนได้ คลุมทับด้วยกระสอบป่านหรือผ้าสแลนสีดำ ทิ้งบ่อไว้ 7 วันเมื่อครบ 7 วัน จึงปล่อยไส้เดือนลงเลี้ยง การเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนในระยะเตรียมการจึงควรมีปริมาณไส้เดือนอย่างน้อย 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 6 สัปดาห์ ก็จะทำให้ปริมาณไส้เดือนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และทวีจำนวนมากขึ้นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
การให้อาหาร :
การให้อาหารที่เป็นเศษอินทรียวัตถุกับไส้เดือนในบ่อเลี้ยง นำขยะสดจากชุมชนมาแยกวัสดุที่ไม่ย่อยสลายเช่นถุงพลาสติกต่างๆ ออก ปริมาณขยะสดที่ควรเตรียมให้ไส้เดือน ควรจะมีการเตรียมการหมักให้เริ่มบูดเสียก่อน นำมาใส่ในบ่อเลี้ยงไส้เดือนความหนาไม่เกิน 10 เซนติเมตร เนื่องจากถ้าหนามากกว่านี้ จะทำให้เกิดความร้อนโดยให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาหารที่สามารถใช้เลี้ยงไส้เดือนได้ เช่น มูลสัตว์ กระดาษลัง กากถั่วต่างๆ เศษอาหาร เศษผักและผลไม้สด เศษกระดาษและอื่นๆ
ลักษณะถุงเก็บน้ำเชื้อสีขาว (ไคเทอรั่ม)บริเวณรอบคอของไส้เดือน ซึ่งเป็นอาการที่บอกว่าพร้อมจะวางไข่
การจัดการโรงเรือน : การในการจัดการโรงเรือนจะต้องพยายามควบคุมไม่ให้เกิดความร้อนขึ้นในบ่อเลี้ยงที่ไส้เดือนอาศัยอยู่ เนื่องจากจะเป็นสิ่งที่จำกัดการเจริญเติบโตของไส้เดือน หลังจากที่นำไส้เดือนลงเลี้ยงในบ่อแล้วก็เลี้ยงต่อเนื่องจนไส้เดือนอายุประมาณ 2 เดือน ไส้เดือนก็จะเริ่มเป็นหนุ่มสาว จะสังเกตเห็นถุงเก็บน้ำเชื้อสีขาว (ไคเทอรั่ม)บริเวณรอบคอ พร้อมที่จะวางไข่ จากนั้นจะเริ่มสังเกตเห็นไข่ไส้เดือนเกาะกันเป็นกลุ่มๆ มีลักษณะเหมือนเม็ดแมงลัก ออกสีน้ำตาลสามารถ สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนหลังจากเห็นไข่ไส้เดือน 20 วัน จะเริ่มเห็นลูกไส้เดือนตัวเล็กแรกเกิดจะมีลักษณะเหมือนเส้นด้ายสีขาว หลังจากนั้นอีก 7 วัน จะเริ่มออกเป็นสีน้ำตาลแดง ช่วงนี้ก็สามารถคัดแยกไส้เดือนแม่พันธุ์ออกจากบ่อทั้งหมด เหลือไว้แต่ลูกไส้เดือนเลี้ยงต่อไปตามปกติ ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงไส้เดือน คือ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน น้ำหมักมูลไส้เดือน และสร้างรายได้อย่างงามให้กับคุณธงชัย ก้อนทอง นอกจากนั้นการเลี้ยงไส้เดือนก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยหมัก ลดการฝั่งกลบขยะด้านการเกษตร ผลิตปุ๋ยหมักจากไส้เดือนและน้ำสกัดชีวภาพใช้ในการเกษตรอินทรีย์ ด้านอาหารสัตว์ ใช้เป็นอาหารโปรตีนทั้งในรูปไส้เดือนเป็นและผง
++ การเลี้ยงไส้เดือนคอนโด(ชั้นพลาสติก) ++
วัสดุ-อุปกรณ์ :
1. ชั้นพลาสติกตามขนาดที่ต้องการ
2. ขี้เลื่อย จำนวน 2 ปี๊บ
3. ฟางแห้ง จำนวน 1 กระสอบ
4. น้ำสะอาดพอประมาณ
พันธุ์ไส้เดือนที่เลี้ยง :
1.ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกัน ไนท์ คลอเรอร์ ลักษณะเป็นไส้เดือนตัวใหญ่ ลำตัวออกสีน้ำเงิน
2.ไส้เดือนพันธุ์อาร์เชน่า ลักษณะเป็นไส้เดือนตัวเล็ก สีแดง
วิธีการเลี้ยง : 1.นำฟางกับขี้เลื่อยมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ค่อยราดน้ำใส่จนได้ความชื้นที่เหมาะสม เรียกว่า เป็นที่อยู่ สำหรับไส้เดือน 2.เมื่อผสมที่อยู่ไส้เดือนเสร็จแล้ว นำไปบรรจุลงในชั้นพลาสติกที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณครึ่งหนึ่งของชั้นพลาสติก และชั้นพลาสติกต้องมีการเจาะรูด้านล่างของชั้นเพื่อใช้ระบายน้ำมูลไส้เดือนให้ตกลงมาที่ชั้นล่างสุด เช่น ใช้ชั้นพลาสติกแบบ 5 ชั้น ต้องเจาะรูด้านล่างกล่องพลาสติกตั้งแต่ชั้นที่ 1-4 เพื่อให้น้ำมูลไส้เดือนตกลงมาชั้นล่างสุด โดยนับจากด้างบนลงด้านล่าง 3.เมื่อบรรจุที่อยู่ไส้เดือนใส่ชั้นพลาสติกแล้ว ทิ้งไว้อย่างน้อย 7 วัน แล้วจึงนำไส้เดือนลงเลี้ยงเฉลี่ยชั้นละ 500 ตัว 4.ให้อาหารไส้เดือน เป็นจำพวกเศษผัก เศษผลไม้สด หรือลังกระดาษชุบน้ำ โดยให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง 5.เลี้ยงต่อเนื่องจนไส้เดือนอายุประมาณ 2 เดือน จะเริ่มเป็นหนุ่มสาว จะสังเกตเห็นถุงเก็บน้ำเชื้อสีขาว(ไคเทอรั่ม)บริเวณรอบคอ พร้อมที่จะวางไข่ จากนั้นจะเริ่มสังเกตเห็นไข่ไส้เดือนเกาะกันเป็นกลุ่มๆ มีลักษณะเหมือนเม็ดแมงลัก ออกสีน้ำตาล สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน หลังจากเห็นไข่ไส้เดือน 20 วัน จะเริ่มเห็นลูกไส้เดือนตัวเล็กแรกเกิดจะมีลักษณะเหมือนเส้นด้ายสีขาว หลังจากนั้นอีก 7 วัน จะเริ่มออกเป็นสีน้ำตาลแดง ช่วงนี้ก็สามารถคัดแยกไส้เดือนแม่พันธุ์ออกทั้งหมด เหลือไว้แต่ลูกไส้เดือนเลี้ยงต่อไปตามปกติ ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงไส้เดือน คือ ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน น้ำหมักมูลไส้เดือน และสร้างรายได้อย่างงามให้กับคุณธงชัย ก้อนทอง นอกจากนั้นการเลี้ยงไส้เดือนก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยหมัก ลดการฝั่งกลบขยะด้านการเกษตร ผลิตปุ๋ยหมักจากไส้เดือนและน้ำสกัดชีวภาพใช้ในการเกษตรอินทรีย์ ด้านอาหารสัตว์ ใช้เป็นอาหารโปรตีนทั้งในรูปไส้เดือนเป็นและผง การจำหน่ายตัวไส้เดือน(แม่พันธุ์) : 1.พันธุ์แอฟริกัน ไนท์ คลอเรอร์ - ตัวเล็กอายุ 2 เดือน ขายตัวละ 1 บาท - อายุ 2.5 3 เดือน ขายตัวละ 3 บาท - พร้อมวางไข่ อายุ 3 เดือนขึ้นไป ขายตัวละ 5 บาท 2. พันธุ์อาร์เชน่า - ขายกิโลกรัมละ 2,500 บาท หมายเหตุ : อาหารและการให้อาหาร การจัดการต่างๆ ขั้นตอนจะเหมือนกันกับการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ แต่การเลี้ยงในชั้นพลาสติก (คอนโด) จะมีข้อดี คือ เหมาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย
++ การผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ++
การเก็บปุ๋ยมูลไส้เดือนเพื่อผลิตเป็นปุ๋ย :
ปุ๋ยมูลไส้เดือนจะอยู่บริเวณด้านบนของที่อยู่ไส้เดือน มีลักษณะเป็นขุยดินร่วน การเก็บปุ๋ยมูลไส้เดือนจำต้องเก็บโดยการใช้มือโกยผิวดินด้านบนของที่อยู่ไส้เดือนออกมาใส่ภาชนะ จากนั้นจึงนำปุ๋ยมูลไส้เดือนไปกองตากแดด โดยคัดเอาตัวไส้เดือนออกจากกองปุ๋ยให้หมด ตากแดดไว้ประมาณ 30-40 นาที ให้นำเข้าไปผึ่งในที่ร่มอีกประมาณ 30 นาที เพื่อไม่ให้ปุ๋ยแห้งจนเกินไป เพียงเท่านี้ก็สามารถนำปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ได้ไปบรรจุกระสอบเพื่อจำหน่ายได้แล้ว โดยข้อดีของปุ๋ยมูลไส้เดือน จะมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากถึง 95%
++ การสร้างมูลค้าเพิ่มทางการตลาด ++
หลังจากผึ่งมูลไส้เดือนจนแห้งได้ที่แล้ว ให้นำมูลไส้เดือนไปบรรจุกระสอบเพื่อจำหน่าย โดยจะสามารถจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 12 บาท หรือจะนำไปอัดเม็ดเป็น ปุ๋ยมูลไส้เดือนอัดเม็ด ก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคา กิโลกรัมละ 18 บาท แต่หากนำมาเข้าสู้กระบวนการร่อนด้วยเครื่องร่อนก็จะสามารถสร้างมูลค้าทางการตลาดได้ซึ่งหลังจากหารร่อนจะได้ผลิตภัณฑ์ คือ 1.ปุ๋ยมูลไส้เดือนแบบหยาบ จำหน่ายราคา กิโลกรัมละ 12 บาท 2.ปุ๋ยมูลไส้เดือนร่อนละเอียด จำหน่ายราคา กิโลกรัมละ 25 บาท (หน้าฟาร์ม) และ กิโลกรัมละ 30 บาท (แบบปลีก)
โดยสรุปแล้วการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนจะได้ผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1. ปุ๋ยมูลไส้เดือนแบบหยาบ จำหน่ายราคา กิโลกรัมละ 12 บาท
2. ปุ๋ยมูลไส้เดือนอัดเม็ด จำหน่ายราคา กิโลกรัมละ 18 บาท
3. ปุ๋ยมูลไส้เดือนอัดเม็ดบรรจุกระสอบ น้ำหนัก 40 กิโลกรัม จำหน่ายราคา กระสอบละ 450 บาท
4. ปุ๋ยมูลไส้เดือนร่อนละเอียด จำหน่ายราคา กิโลกรัมละ 25 บาท(หน้าฟาร์ม) และ กิโลกรัมละ 30 บาท (แบบปลีก)
ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับคุณธงชัย ก้อนทองถึงปีละ 200,000-300,000 บาท (เฉลี่ย/ปี)
การนำไปใช้ :
- ปุ๋ยมูลไส้เดือน มีลักษณะเป็นอนุภาคละเอียด จึงสลายตัวตามกระบวนการทางชีวภาพ เกิดธาตุอาหารหลัก ธาตอาหารรองจุลธาตุได้รวดเร็วและง่ายต่อการดูดซึมผ่านรากพืช มีฮิวมัสและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินและต้นพืช จึงใช้ได้ไม่จำกัดปริมาณ ไม่มีปัญหาเรื่องรากไหม้และยังช่วยให้ดินไม่เสื่อมสภาพ และช่วยให้ดินร่วนซุย ใช้น้อยแต่มีประสิทธิภาพสูง
- สามารถใช้ได้กับ ไม้ดอก ไม้ใบ ไม้ประดับ ไม้กระถาง กล้วยไม้ สนามหญ้า พืชผักสวนครัวทุกชนิด ไม้ผลและนาข้าว
- ใช้โรยโคนต้นไม้ในปริมาณ 200-300 กรัม ต่อต้นทุก 7-15 วัน หลังใส่ควรพรมน้ำเล็กน้อยเพื่อให้ปุ๋ยจับตัวกัน แล้วจึงรดน้ำตามปกติ
- สำหรับนาข้าว ใส่ช่วงเตรียมแปลงก่อนไถกลบ ประมาณ 30-50 กิโลกรัม/ไร่ จะสามารถช่วยปรับสภาพดินให้มีความสมบูรณ์และร่วนซุย และป้องกันการเกิดโรค
++ การทำน้ำหมักมูลไส้เดือน ++
วัสดุ-อุปกรณ์ :
- น้ำมูลไส้เดือน ประมาณ 200 ลิตร
- รำละเอียด จำนวน 5 ขีด
- กากน้ำตาล จำนวน 2 ลิตร
วิธีการทำ :
1.นำรำละเอียด ผสมกับกากน้ำตาล ใส่ในถังขนาด 200 ลิตร คนให้กากน้ำตาลละลาย แล้วค่อยเทน้ำมูลไส้เดือนลงไปเรื่อยๆจนได้ปริมาณ 200 ลิตร
2.ใช้เครื่องออกซิเจนสำหรับใส่ในตู้ปลา เติมออกซิเจนลงในถังหมักอยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นการกระตุ้นด้วยระบบน้ำวนให้จุลินทรีย์มีการขยายปริมาณมากขึ้น และส่งผลให้จุลินทรีย์มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย หมักไว้นานประมาณ 1 เดือน จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้
++ การนำไปใช้ ++
- ใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนในอัตรา น้ำหมัก 1 ลิตร + น้ำเปล่า 5 ลิตร ฉีดพ่นบำรุงพืชผักทุกชนิด ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผล
- สำหรับนาข้าว ใช้ปุ๋ยน้ำหมักมูลไส้เดือนในอัตรา น้ำหมัก 1 ลิตร + น้ำเปล่า 5 ลิตร/ไร่ ฉีดพ่นตอซังก่อนทำการไถกลบ จะช่วยเร่งการย่อยสลายตอซัง และเพิ่มปริมาณธาตุอาหารและปรับปรุงบำรุงดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่นาที่ดินตายหรือเสื่อมสภาพ จะสามารถกลับมามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มใช้
- ใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนฉีดพ่นบำรุงนาข้าวทุก 15 วัน ตั้งแต่ข้าวอายุ 15 วัน ขึ้นไปจนกระทั่งข้าวตั้งต้องก็หยุดบำรุง ในอัตรา น้ำหมัก 1 ลิตร + น้ำเปล่า 5 ลิตร / ไร่ จะช่วยให้ข้าวมีการเจริญเติบโตดี แข็งแรง ต้านทานโรค เมล็ดเต็ม ออกรวงดก
0 ความคิดเห็น